มือถือซีรีส์ Galaxy S20 ของซัมซุงที่เพิ่งเปิดตัวไป ไฮไลท์สำคัญหนีไม่พ้นเรื่อง "กล้อง" โดยเฉพาะตัว Galaxy S20 Ultra ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Space Zoom 100x ซูมได้ 100 เท่า
Blognone ได้ Galaxy S20 ทั้งสามรุ่นย่อยมาทดสอบประมาณหนึ่งสัปดาห์ และพบว่ามีประเด็นเรื่องกล้องของ S20 ให้เขียนถึงหลายเรื่อง เพื่อไม่ให้บทความรีวิวยาวจนเกินไป บทความนี้จะขอพูดเฉพาะเรื่องกล้องของ Galaxy S20 Ultra และเน้นที่เรื่องการซูมเพียงอย่างเดียว
รู้จักฮาร์ดแวร์กล้องซูมของ Galaxy S20 Ultra
ต้องบอกว่าปี 2019 ซัมซุงตามหลังคู่แข่งโดยเฉพาะ Huawei P30 เรื่องกล้องซูมมาตลอดทั้งปี ถึงแม้อัลกอริทึมอาจช่วยพยุงกล้องของ Galaxy S10/Note 10 ได้พอสมควร แต่สุดท้ายก็ยังติดข้อจำกัดเรื่องฮาร์ดแวร์ (ทั้งเซ็นเซอร์-เลนส์)
พอถึงปี 2020 ซัมซุงสามารถ "ปลดล็อค" ข้อจำกัดนี้ได้สำเร็จใน Galaxy S20 Ultra ที่อัพเกรดทั้งเซ็นเซอร์และเลนส์ซูมพร้อมกันรวดเดียวเลย
- กล้องหลัก (wide angle camera) เปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ตัวใหม่ ISOCELL HMX 108MP
- กล้องซูม (telephoto camera)
- เปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ขนาด 48MP ที่สามารถใช้เทคนิครวมแสงจาก 4 พิกเซล (tetra-binding) เป็นภาพ 12MP ได้ (ขึ้นกับสภาพแสงว่าจะถ่าย 48MP หรือ 12MP)
- ใช้เลนส์พับ (folded lens) ที่ใช้การสะท้อนกระจก เพื่อวางเลนส์ซูมไว้ด้านข้าง 90 องศา เพื่อให้มีระยะเลนส์ยาวพอที่จะซูมได้เยอะขึ้น (ดูภาพประกอบ)
เทคนิคการใช้เลนส์แบบ folded lens ไม่ใช่เรื่องใหม่ และคู่แข่งอย่าง Huawei กับ Oppo ก็ทำมาก่อนแล้ว จุดที่ทำให้ Galaxy S20 ต่างออกไปคือการมีภาพความละเอียดสูงขนาด 108MP มาช่วยประมวลผลตอนซูมด้วย (ของ Huawei คือ 40MP, ของ Oppo คือ 48MP)
การเพิ่มเลนส์ folded เข้ามาทำให้โมดูลของของ Galaxy S20 Ultra ใหญ่ขึ้นมาก ถ้าใช้คำแบบบ้านๆ ก็คือเลนส์ปูดขึ้นมาอย่างชัดเจน ปูดมาก ใหญ่มากๆ เพราะต้องมีพื้นที่ให้วางกระจกเลนส์ (ถึงแม้วางในแนวขวางก็ยังต้องใช้พื้นที่เยอะ) นั่นเอง
ยิ่งถ้าวางเทียบกับ Galaxy S20/S20+ (ที่ใช้ระบบกล้องตัวเดียวกัน) จะยิ่งเห็นความแตกต่างของ S20 Ultra คือมันปูดจนถึงระดับว่าไม่สามารถวางเครื่องไว้บนโต๊ะโดยไม่กระดกได้เลย ต้องวางคว่ำหน้าหรือใส่เคสเท่านั้น
การซูม 3 ระดับ ที่ใช้เทคนิคต่างกัน
ถ้าสังเกตข้อความที่ซัมซุงใช้โปรโมท Galaxy S20 จะไม่เห็นซัมซุงใช้คำว่า "optical zoom" ตรงๆ แม้แต่ครั้งเดียว แต่จะใช้คำว่า "Hybrid Optical Zoom" แทนเสมอ (S20/S20+ มีตัวเลข Hybrid Optical Zoom ที่ 3x ส่วนรุ่น S20 Ultra ตัวเลขนี้เป็น 10x)
แม้แต่ด้านหลังของกล้อง S20 Ultra ก็จะมีคำว่า Hybrid Optical Zoom 10x แปะเอาไว้อยู่ด้วยเช่นกัน ทำไมซัมซุงถึงเลือกใช้คำนี้
เหตุผลก็คือมันไม่ใช่ optical zoom แท้ๆ 100% นั่นเองครับ เลยต้องมีคำว่า hybrid แปะมาด้วย
ตัวเลนส์ซูมของ Galaxy S20 Ultra มีค่าการซูม (optical zoom) อยู่ที่ 4x เท่านั้น แต่ด้วยเทคนิคการผสานรูปจากเซ็นเซอร์หลายตัวเข้าด้วยกัน (ถ้าเรียกเท่ๆ ตามสมัยนิยมคือ computational photography) ทำให้สามารถซูมภาพได้เป็น 10x โดยที่ซัมซุงบอกว่าภาพไม่แตก (loseless zoom)
จากนั้นเมื่อจะขยายการซูมเป็น 100x ตามโฆษณา Space Zoom ซัมซุงใช้เทคนิคการขยายภาพธรรมดา (digital zoom) ซึ่งภาพแตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น การเข้าใจความสามารถ (และข้อจำกัด) ของกล้องซูม Galaxy S20 Ultra จึงต้องเข้าใจก่อนว่ามีการซูมเข้า 3 ระดับ ที่ใช้เทคนิคแตกต่างกัน
- 1x-4x ใช้การซูมเลนส์ (optical zoom)
- 4x-10x ใช้เทคนิคประมวลผล Hybrid Optical Zoom
- 10x-100X เป็นการขยายภาพ (digital zoom)
ในหน้า UI ของแอพ Camera เราจะเห็นปุ่มต้นไม้แสดงการซูม 3 ระดับ ได้แก่ 0.5x (ultrawide) 1x (wide) และซูม 5x (tele) UI ตรงนี้เหมือนกับใน S10/Note 10
สิ่งที่เพิ่มมาคือ ตอนที่กดซูมมากกว่า 1 เท่า จะเห็นปุ่มเลือกระดับการซูมเพิ่มเข้ามาที่ขอบด้านซ้าย ซึ่งกรณีของ S20 Ultra คือซูมได้สูงสุดที่ 100x (ถ้าเป็น S20/S20+ จะสูงสุดที่ 30x)
หมายเหตุ: ตรงนี้ยังเป็นข้อสังเกตอยู่เหมือนกันว่า ตกลงแล้ว S20 Ultra ซูมแบบ optical ได้ที่ 4x หรือ 5x กันแน่ เพราะใน UI ค่าดีฟอลต์การซูมเป็น 5x แต่ผมไม่สามารถหาบทความอ้างอิงอื่นนอกจากของ The Verge ที่บอกว่าเป็น 4x ดังนั้นขอยึดตามนี้ไปก่อนนะครับ
มาถึงตรงนี้เราคงพอคาดเดากันได้ว่าการซูมที่ระดับ 1x-4x ภาพไม่แตกแน่ๆ ส่วนการซูมที่ 10x-100x ภาพแตกแน่ๆ จุดที่น่าสนใจคือตรงกลางที่เป็น Hybrid Optical Zoom จะได้ผลเป็นอย่างไร ลองดูของจริงกันดีกว่าครับ
ภาพตัวอย่างจาก Galaxy S20 Ultra
การถ่ายภาพทั้งหมดตั้งค่าเป็น 4:3 เพื่อให้ได้ความละเอียดแบบ native ของเซ็นเซอร์ (ไม่ต้อง crop ภาพออก) และปิดฟีเจอร์ scene optimizer ของแอพกล้องด้วย รูปทั้งหมดมีไฟล์ขนาดเต็มที่ดูได้จาก Flickr ในลิงก์ของแต่ละรูป
ภาพแรกผมลองถ่ายตึกช้าง จากอาคารจอดแล้วจรของ MRT โดยกำหนดโจทย์ที่ "ตา" ของตึกช้าง
ซูม 1x
ซูม 5x จะเห็นว่ายังมีความคมชัดอยู่
ซูม 10x สุดเขตความสามารถของ Hybrid Optical Zoom
ในการใช้งานจริง พอซูมถึงระดับ 10x ภาพจะเริ่มสั่นแล้ว ต้องวางกล้องกับขอบกำแพงหรือมีขาตั้งกล้องช่วย จึงสามารถถ่ายภาพได้คมชัด
ซูม 100x ตามชื่อแบรนด์ Space Zoom เป็นการคร็อปภาพจากภาพที่ซูมระดับ 10x เท่านั้น ภาพที่ได้ไม่คมชัดเแล้ว
ภาพชุดที่สอง ถ่ายจากตึกจัตรุจัสจามจุรี ไปยังตึก CAT บางรัก โดยกำหนดโจทย์ที่ป้ายโลโก้ของ CAT บนยอดตึก
ซูม 0.5x เลนส์ ultrawide เพื่อเทียบระยะการซูมให้เห็น
ซูม 1x มาตรฐาน
ซูม 5x เห็นอาคาร CAT ชัดเจน
ซูม 10x สุดขอบของ Hybrid Optical Zoom ยังได้ภาพที่ค่อนข้างดีอยู่ (ไม่ได้ใช้ขาตั้ง)
ซูม 30x ระดับรองสุดท้ายของ Space Zoom
ซูม 100x ขั้นสุดท้ายของ Space Zoom
สรุป: ซูม 100x ใช้ไม่ได้จริง แต่ 10x ก็น่าประทับใจมากแล้ว
จากการทดสอบกล้องซูมของ Galaxy S20 Ultra พบว่าการซูมระดับ 100x Space Zoom ใช้งานจริงได้ยาก เพราะภาพจะสั่นมากๆ หากไม่มีตัวช่วยที่ทำให้กล้องนิ่ง อีกทั้งคุณภาพของภาพก็ไม่ได้ดี (ตามความคาดหมายตั้งแต่แรก) ตรงนี้เป็นกิมมิคของซัมซุงที่อัดเข้ามาดันตัวเลขซูมสูงสุดเป็น 100 เท่า ดูเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การซูมด้วย Hybrid Digital Zoom ถือว่าทำได้ค่อนข้างน่าพอใจมากแล้ว สำหรับกล้องมือถือเครื่องขนาดนี้ ในชีวิตจริง เราน่าจะใช้การซูมที่ระดับไม่เกิน 10x ถ่ายสิ่งต่างๆ เช่น ถ่ายสไลด์บนจอ ถ่ายคอนเสิร์ต ได้ค่อนข้างครบถ้วน
เมื่อบวกกับเลนส์มุมกว้าง ultrawide ทำให้เรามีระยะการซูมโดยรวมที่ 20 เท่า (จาก 0.5x ไปจนถึง 10x) ถือว่ายืดหยุ่นหลากหลายต่อทุกสถานการณ์แล้ว
กล้องของ Galaxy S20 Ultra ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ อย่างการถ่ายภาพความละเอียดสูง 108MP เพื่อคร็อปทีหลังแล้วภาพไม่แตก, การถ่ายวิดีโอระดับ 8K, ฟีเจอร์ถ่ายภาพและวิดีโอพร้อมกัน (single take) และการถ่ายในที่มืดที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความถัดไป
ที่มา Blognone
ที่มา Blognone
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น