23 กันยายน 2552

ก่อนจะถึงจุดหมาย กรีน ไอที





การใช้เทคโนโลยีช่วยลดการใช้พลังงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ความสำคัญอยู่ที่ผู้ใช้งานมากกว่า



"กรีนไอที" หรือเทคโนโลยีสีเขียว สำหรับใครหลายคนเริ่มกลายเป็นคำคุ้นเคยที่ให้ความหมายถึงการใช้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือโซลูชั่นช่วยประหยัดพลังงานที่ทั่วโลกต่างรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังจะคลี่คลายปัญหาอุณหภูมิโลกที่กำลังสูงขึ้นจากการใช้อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

หาก นับตั้งแต่ครั้งแรกของการรณรงค์ "พลังงานหารสอง" จนถึงนาทีนี้ ปัญหาโลกร้อนก็ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงแม้ว่าผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีหลายๆ รายจะมีสินค้าเพื่อลดการใช้พลังงานออกมาสร้างจุดขาย ตอบสนองความต้องการของผู้มีหัวใจ "รักษ์โลก" ก็ตาม

บนเวที สัมมนาให้ความรู้ประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับ "กรีน ไอที : เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม" ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่จัดขึ้นเร็วๆ นี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ขึ้นชื่อว่า "กรีน" อย่างเดียวนั้นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ช่วยให้โลกมีสีเขียวขึ้น แต่นิยามที่แท้จริงของ "กรีน ไอที" คำตอบอาจอยู่ที่ "มนุษย์" ผู้ควบคุมการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มากกว่า

กรีนไม่กรีนขึ้นอยู่กับ"คน"ใช้
มา ฟังผู้รู้ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานรายใหญ่ของประเทศกัน นายไชยเจริญ อติแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด ในเครือ ปตท บอกว่า ปัญหาโลกร้อนก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดการใช้พลังงานออกสู่ตลาดให้เลือกนานาชนิด รวมทั้งความพยายามในการรณรงค์ลดการใช้พลังงานของหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้พลังงานเกินความจำเป็นได้

เขา อธิบายว่า การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้พลังงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เท่านั้น เนื่องด้วยความสำคัญอยู่ที่ "ผู้ใช้งาน" มากกว่า เพราะแม้อุปกรณ์จะดีเพียงใด แต่หากใช้งานอย่างไม่รู้คุณค่า หรือไม่รู้จักบริหารจัดการ ก็เท่ากับว่า ความพยายามในการลดการใช้พลังงานก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล

ยกตัวอย่างเช่น น้ำแก้วหนึ่งหากดื่มไม่หมดส่วนที่เหลือก็จะกลายเป็นของเสีย ซึ่งในเมื่อทุกอย่างสามารถเป็นของเสียได้ ถ้าไม่รู้จักบริหารก็จะกลายเป็น "เปล่า" ประโยชน์ มีเทคโนโลยีแต่ใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน

"เรา พูดถึงการประหยัดพลังงานมานานแล้ว ทุกคนก็บอกว่าต้องประหยัดพลังงาน แต่ในความเป็นจริง เวลาจะซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เราก็มักจะดูกันแค่ราคา และประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง แต่ไม่ได้ดูเลยว่า กินไฟเท่าไร ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า ทุกอย่างมี Waste แต่ไม่รู้จักบริหารก็ปล่อยให้มัน so what" นายไชยเจริญว่า

อย่างไรก็ตาม สำหรับหน่วยงานใหญ่อย่าง "ปตท." ก็เริ่มต้นมาตราการประหยัดพลังงาน โดยนำระบบ "อีเนอร์จี อนาไลเซอร์" ใช้สำหรับคำนวณการใช้พลังงานของฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ที่จะจัดซื้อ

รวมทั้งยังตอบรับการใช้เทคโนโลยี "เวอร์ชวลไลเซชั่น" เพื่อดึงความสามารถของเทคโนโลยีทุกตัวออกมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ

ปตท.ปักธงต้นแบบกรีนไอซีที
นอก จากนี้ ล่าสุดผู้บริหารสูงสุดของปตท. ได้เห็นชอบให้ "พีทีที กรุ๊ป" ซึ่งหมายความถึงบริษัทในกลุ่ม ปตท.ทั้งหมดกว่า 100 บริษัททั่วโลก เริ่มดำเนินงานตามนโยบาย "กรีน ไอซีที โพลิซี" โดยในขณะนี้ได้เริ่มประกาศให้ภายในองค์กรรับทราบแล้ว และกำลังเตรียมลงนามประกาศให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักด้านไอทีของกลุ่ม ปตท. ในเร็วๆ นี้

เขา บอกว่า นโยบายดังกล่าวจะมีผลให้การใช้โซลูชั่นไอทีทุกอย่างใน ปตท. จะต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงานเป็นหลักครบทั้งวงจร ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อหวังจะยกให้ "กลุ่ม ปตท." เป็นรัฐวิสาหกิจต้นแบบในด้านการประหยัดพลังงานแห่งแรกของประเทศไทย

แต่ ทั้งนี้เขาแนะว่า สำหรับองค์กรทั่วๆ ไปไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใดก็สามารถเป็น "กรีน คอมพานี" ได้ โดยก่อนจัดซื้อจะต้องประเมิน "ความคุ้มค่าในการเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership:TCO)" โดยให้เห็นความคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่าดูราคา แต่ใช้งานได้ระยะสั้น เช่น ไมโครโฟนราคา 10 บาท แต่กินไฟวันละ 5 บาท เทียบกับไมโครโฟนราคาแพงกว่า แต่กินไฟเพียงวันละ 1 บาท ซึ่งเมื่อเป็นอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานนาน เมื่อคำนวณต้นทุนที่ต้องเสียไปแล้ว ควรเลือกสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่า ดูราคาเพียงอย่างเดียว

ไอซีทีรับยังไม่มีนโยบายจริงจัง
ด้าน นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยอมรับว่า การผลักดันของภาครัฐในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียวยังอยู่เพียงช่วง เริ่มต้นเท่านั้น โดยในบทบาทของไอซีทีจะถูกจัดรวมเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย มีกำหนดใช้ระหว่างปี 2552 - 2556

ทั้งนี้หลักๆ จะเน้นการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความหมายของ "กรีน ไอที" อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความตระหนักและหันมาร่วมมือใส่ใจการใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาสิ่ง แวดล้อมกันมากขึ้น

ขณะที่กระทรวงไอทีซีก็จะเริ่มทำให้เห็นเป็น ตัวอย่าง เช่น การเลือกซื้อเครื่อง หรือฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ที่ช่วยลดการใช้พลังงานได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ก่อนหน้า นี้ ไอดีซี เคยเผยผลสำรวจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า ในเอเชียแปซิฟิก ซีไอโอ ต่างให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม (กรีนไอที) มาใช้กับองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดยเน้นการผลักดันและการประเมินค่า ได้แก่ การลดการใช้พลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์ 



ข้อมูลจาก: ข่าวไอที

ไม่มีความคิดเห็น: