ประเด็นสำคัญที่ควรจะต้องสนใจก็คือ การเลือกซีพียูให้ถูกซ็อกเก็ต ติดตั้งลงบนซ็อกเก็ตได้อย่างถูกต้อง การทาซิลิโคนที่พอเหมาะสำหรับการระบายความร้อน รวมถึงการตรวจสอบหลังจากที่ติดตั้งเรียบร้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะมีอะไรบ้างนั้นต้องมาดูกันแบบเป็นขั้นตอน
อันดับแรกตรวจเช็คก่อนว่าเมนบอร์ดที่ใช้ รองรับซีพียูที่จะนำมาอัพเกรดหรือไม่ ซ็อกเก็ต เป็นแบบเดียวกันหรือไม่ เมนบอร์ดบางรุ่นอาจจะคล้ายๆ กัน แต่ขาต่างกันใส่ซีพียีร่วมกันไม่ได้ รองรับซีพียูได้คนละรุ่นหรือเมนบอร์ดบางรุ่นมีซ็อกเก็ตแบบเดียวกัน แต่ต่างกันที่ชิปเซ็ต ฉะนั้นควรจะต้องตรวจเช็คให้ดีเสียก่อน
เมื่อจะวางซีพียูลงในซ็อกเก็ต หลายคนอาจจะงงว่า จะต้องวางแบบไหน หันหัวไปทางใด จุดนี้ไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะหากวางไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถจะลงล็อคได้ตามปกติ วิธีการก็คือ หากเป็นซีพียูที่ไม่มีขาหรือเป็นหน้าสัมผัสอย่างซีพียูของทาง Intel ก็ให้ดูสลักด้านข้างทั้ง 2 ด้านของซีพียูและเมนบอร์ดให้ตรงกัน แล้ววางลงตรงๆ เท่านั้น
หากเป็นซีพียูที่มีขาเป็นพินจำนวนมากๆ อย่างเช่นซีพียู AM2, AM3 จากค่าย AMD ก็ให้ดู ที่มุมด้านในของขอซีพียู จะมีส่วนเว้าของพินในแต่ละมุมให้สังเกต วางให้ตรงกับซ็อกเก็ตบนเมนบอร์ด หากวางไม่ลงอาจเกิดจากใส่ผิด ให้ลองดูมุมอีกครั้ง แล้ววางลงไปใหม่ อย่าฝืนกดลงไป เพราะอาจเกิดความเสียหายได้
เมื่อวางซีพียูลงบนซ็อกเก็ตเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการล็อคซีพียูให้อยู่บนซ็อกเก็ต ซึ่งถ้าเป็นซีพียูของอินเทล ก็ให้ง้างกระเดื่องที่เป็นตัวล็อคขึ้นมา จากนั้นครอบตัวล็อคลงไป แล้วกดขากระเดื่องลงให้ยึดกับสลักบนเมนบอร์ด เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
จากนั้นก็ให้ทำการติดตั้งฮีตซิงก์และต่อสายพัดลมให้เรียบร้อย ก่อนที่จะปิดฝาเคส เพื่อให้พร้อมในการใช้งานต่อไป
ขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจสอบความเรียบร้อย ด้วยการเข้าไปดูค่าอุณหภูมิในไบออส ในส่วนของ Hardware Monitor โดยให้สังเกตว่าอุณหภูมิขึ้นสูงจนผิดปกติหรือไม่ หากสูงเกินให้ตรวจเช็คว่าเกิดจากอะไร ฮีตซิงก์ติดแน่นหนาดีหรือไม่ อาจจะต้องลองแกะมาดูอีกครั้งหนึ่ง
ตามจริงแล้ว การทาซิลิโคนระบายความร้อนให้กับซีพียู สามารถทำได้ทั้งก่อนหรือหลังติดตั้งซีพียู ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เพราะบางครั้งพื้นที่รอบข้างของซ็อกเก็ตคับแคบมาก การทาซิลิโคนลงไปก่อน ก็จะสะดวกกว่าการเอื้อมมือลงไปทาในภายหลัง
บทความจาก : http://www.commartthailand.com